วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บอนสี

บอนสี เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงามโดยเฉพาะใบที่มีรูปทรงและสีสันสวยงามแปลกตาจนได้ชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้ใบ" เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Caladium มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้และประเทศในเขตร้อนทั่วไป บอนสีเป็นไม้ประเภทล้มลุกที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินคล้ายหัวเผือกหรือมัน มีรากเป็นเส้นฝอยเล็กๆ แทงออกมาระหว่างหัวกับลำต้นและพักตัวในฤดูหนาวโดยจะทิ้งใบจนหมดและเริ่มผลิใบเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูฝน
บอนสี หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า "บอนฝรั่ง" (Caladium Becolor) จากชื่อทำให้คาดเดาได้ว่าเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จากหลักฐานพอสรุปได้ว่าบอนสีปลูกเลี้ยงกันในต่างประเทศมานานกว่า 300 ปีแล้ว มีการสันนิษฐานว่า บอนสีบางต้นมีผู้นำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชวา เปอร์เซีย และมีความสัมพันธ์กับชาวยุโรปเป็นอย่างดี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสด็จนิวัตพระนครหลังเสด็จประภาสยุโรป ราวปี พ.ศ. 2444 ทรงนำพันธุ์ไม้หลายชนิดจากยุโรปเข้ามาปลูกในประเทศไทย ในจำนวนพันธุ์ไม้เหล่านี้มีบอนฝรั่งหรือบอนสีรวมอยู่ด้วย ในช่วงแรกปลูกเลี้ยงกันเฉพาะในกลุ่มของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และมักปิดบังวิธีการปลูกเลี้ยงและการผสมพันธุ์บอน จนกระทั่งความนิยมปลูกเลี้ยงบอนสีเสื่อมลง บอนสีพันธุ์ต่างๆ จึงได้แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป
บอนสีการปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงประมาณปี พ.ศ.2470-2475 เป็นช่วงที่บอนสีได้รับความนิยมมากที่สุด มีการผสมพันธุ์บอนขึ้นใหม่มากมาย มีสีสันสวยงามแปลกตาต่างไปจากบอนสีดั้งเดิม มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย มีการตั้งชื่อแยกหมวดหมู่ตามลักษณะและสีสันของใบออกเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า "ตับ" นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดบอนสีที่ "สนามบาร์ไก่ขาว" หลังจากปี พ.ศ.2475 บอนสีก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง จนกระทั่งราวปี พ.ศ.2508 มีผู้สั่งบอนใบยาวจากสหรัฐเข้ามาในประเทศไทย ทำให้มีการผสมพันธุ์บอนสีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก บอนสีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งราวปี พ.ศ.2522-2525 มีการจัดตั้ง สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์และพัฒนาการปลูกเลี้ยงบอนสีรวมถึงการรับจดทะเบียนชื่อบอนสีที่ได้รับการผสมขึ้นใหม่ และด้วยความสามารถของคนไทย ปัจจุบันการปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีการพัฒนาวิธีการปลูกเลี้ยงและสายพันธุ์ให้มีสีสันสวยงามแปลกตาไปจากเดิมมาก จนอาจกล่าวได้ว่าบอนสีคือบอนของคนไทย

การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา

ดิน

ควรเป็นดินที่มีความร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสูง มีส่วนผสมของขุยไผ่ ใบทองหลาง ใบมะขาม หรือใบก้ามปูที่ผุแล้ว

น้ำ

บอนสีเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงควรให้น้ำสม่ำเสมอ ถ้าต้นบอนขาดน้ำจะชะงักการเจริญเติบโต ไม่สดใส การรดน้ำควรรดวันละ 2 ครั้งตอนเช้าและตอนเย็น ไม่ควรใช้สายยางฉีดน้ำที่โคนต้นเพราะจะทำให้กระทบกระเทือนอาจทำให้ต้นและใบของบอนสีฉีกขาดและหักได้ ถ้าปลูกในกระถางควรมีจานรองกระถางใส่น้ำไว้เสมอ

แสงแดด

สีผลต่อสีสันและลวดลายของใบบอนมาก ถ้าบอนสีได้รับแสงแดดน้อยเกินไปจะทำให้ใบบอนมีสีซีดไม่สวยงาม ถ้าได้รับแสงแดดมากจะทำให้ใบมีสีสด เข้ม และลวดลายสวยงาม แต่ถ้าได้รับแสงแดดจัดเกินไปอาจทำให้ใบห่อเหี่ยวและเป็นรอยไหม้ได้ ดังนั้นแสงแดดที่เหมาะสมในการเลี้ยงบอนคือแสงแดดรำไรในตอนเช้าหรือช่วงบ่ายที่ไม่ร้อนจัด หรืออาจใช้ที่พรางแสง 50-70% ช่วยก็ได้

ความชื้นในอากาศ

บอนเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในอากาศสูง ในฤดูหนาวและฤดูร้อนความชื้นในอากาศต่ำหัวบอนจะพักตัวและทิ้งใบหมด เมื่อถึงฤดูฝนความชื้นในอากาศสูงบอนจึงจะเริ่มผลิใบเติบโตอีกครั้ง เพื่อป้องกันการพักตัวของบอนในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนจึงมีการปลูกเลี้ยงบอนในตู้หรือในกระโจม

การให้ปุ๋ย

ปุ๋ยอินทรีย์ควรใช้ปุ๋ยคอกมูลหมูและมูลไก่ ส่วนมูลวัวเมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ดินเละทำให้หัวเน่าได้ง่าย ปุ๋ยเคมีใช้สูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ในอัตราต่ำๆ จะช่วยให้ใบดกและสีสันสวย ถ้าใส่มากจะทำให้ชั้นใบห่างเกินไป ไม่ควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำที่ให้ทางใบเพราะอาจทำให้ใบเป็นรอยไหม้ได้ เนื่องจากผิวใบของบอนสีบอบบาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น