วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บอนสี

บอนสี เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงามโดยเฉพาะใบที่มีรูปทรงและสีสันสวยงามแปลกตาจนได้ชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้ใบ" เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Caladium มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้และประเทศในเขตร้อนทั่วไป บอนสีเป็นไม้ประเภทล้มลุกที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินคล้ายหัวเผือกหรือมัน มีรากเป็นเส้นฝอยเล็กๆ แทงออกมาระหว่างหัวกับลำต้นและพักตัวในฤดูหนาวโดยจะทิ้งใบจนหมดและเริ่มผลิใบเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูฝน
บอนสี หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า "บอนฝรั่ง" (Caladium Becolor) จากชื่อทำให้คาดเดาได้ว่าเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จากหลักฐานพอสรุปได้ว่าบอนสีปลูกเลี้ยงกันในต่างประเทศมานานกว่า 300 ปีแล้ว มีการสันนิษฐานว่า บอนสีบางต้นมีผู้นำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชวา เปอร์เซีย และมีความสัมพันธ์กับชาวยุโรปเป็นอย่างดี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสด็จนิวัตพระนครหลังเสด็จประภาสยุโรป ราวปี พ.ศ. 2444 ทรงนำพันธุ์ไม้หลายชนิดจากยุโรปเข้ามาปลูกในประเทศไทย ในจำนวนพันธุ์ไม้เหล่านี้มีบอนฝรั่งหรือบอนสีรวมอยู่ด้วย ในช่วงแรกปลูกเลี้ยงกันเฉพาะในกลุ่มของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และมักปิดบังวิธีการปลูกเลี้ยงและการผสมพันธุ์บอน จนกระทั่งความนิยมปลูกเลี้ยงบอนสีเสื่อมลง บอนสีพันธุ์ต่างๆ จึงได้แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป
บอนสีการปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงประมาณปี พ.ศ.2470-2475 เป็นช่วงที่บอนสีได้รับความนิยมมากที่สุด มีการผสมพันธุ์บอนขึ้นใหม่มากมาย มีสีสันสวยงามแปลกตาต่างไปจากบอนสีดั้งเดิม มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย มีการตั้งชื่อแยกหมวดหมู่ตามลักษณะและสีสันของใบออกเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า "ตับ" นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดบอนสีที่ "สนามบาร์ไก่ขาว" หลังจากปี พ.ศ.2475 บอนสีก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง จนกระทั่งราวปี พ.ศ.2508 มีผู้สั่งบอนใบยาวจากสหรัฐเข้ามาในประเทศไทย ทำให้มีการผสมพันธุ์บอนสีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก บอนสีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งราวปี พ.ศ.2522-2525 มีการจัดตั้ง สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์และพัฒนาการปลูกเลี้ยงบอนสีรวมถึงการรับจดทะเบียนชื่อบอนสีที่ได้รับการผสมขึ้นใหม่ และด้วยความสามารถของคนไทย ปัจจุบันการปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีการพัฒนาวิธีการปลูกเลี้ยงและสายพันธุ์ให้มีสีสันสวยงามแปลกตาไปจากเดิมมาก จนอาจกล่าวได้ว่าบอนสีคือบอนของคนไทย

การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา

ดิน

ควรเป็นดินที่มีความร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสูง มีส่วนผสมของขุยไผ่ ใบทองหลาง ใบมะขาม หรือใบก้ามปูที่ผุแล้ว

น้ำ

บอนสีเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงควรให้น้ำสม่ำเสมอ ถ้าต้นบอนขาดน้ำจะชะงักการเจริญเติบโต ไม่สดใส การรดน้ำควรรดวันละ 2 ครั้งตอนเช้าและตอนเย็น ไม่ควรใช้สายยางฉีดน้ำที่โคนต้นเพราะจะทำให้กระทบกระเทือนอาจทำให้ต้นและใบของบอนสีฉีกขาดและหักได้ ถ้าปลูกในกระถางควรมีจานรองกระถางใส่น้ำไว้เสมอ

แสงแดด

สีผลต่อสีสันและลวดลายของใบบอนมาก ถ้าบอนสีได้รับแสงแดดน้อยเกินไปจะทำให้ใบบอนมีสีซีดไม่สวยงาม ถ้าได้รับแสงแดดมากจะทำให้ใบมีสีสด เข้ม และลวดลายสวยงาม แต่ถ้าได้รับแสงแดดจัดเกินไปอาจทำให้ใบห่อเหี่ยวและเป็นรอยไหม้ได้ ดังนั้นแสงแดดที่เหมาะสมในการเลี้ยงบอนคือแสงแดดรำไรในตอนเช้าหรือช่วงบ่ายที่ไม่ร้อนจัด หรืออาจใช้ที่พรางแสง 50-70% ช่วยก็ได้

ความชื้นในอากาศ

บอนเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในอากาศสูง ในฤดูหนาวและฤดูร้อนความชื้นในอากาศต่ำหัวบอนจะพักตัวและทิ้งใบหมด เมื่อถึงฤดูฝนความชื้นในอากาศสูงบอนจึงจะเริ่มผลิใบเติบโตอีกครั้ง เพื่อป้องกันการพักตัวของบอนในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนจึงมีการปลูกเลี้ยงบอนในตู้หรือในกระโจม

การให้ปุ๋ย

ปุ๋ยอินทรีย์ควรใช้ปุ๋ยคอกมูลหมูและมูลไก่ ส่วนมูลวัวเมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ดินเละทำให้หัวเน่าได้ง่าย ปุ๋ยเคมีใช้สูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ในอัตราต่ำๆ จะช่วยให้ใบดกและสีสันสวย ถ้าใส่มากจะทำให้ชั้นใบห่างเกินไป ไม่ควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำที่ให้ทางใบเพราะอาจทำให้ใบเป็นรอยไหม้ได้ เนื่องจากผิวใบของบอนสีบอบบาง

โป๊ยเซียน

ต้นไม้แห่งโชคลาภตามความเชื่อถือแต่โบราณ จัดเป็นไม้อวบน้ำอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มาก พบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อน พืชในวงศ์นี้มีมากกว่า 300 สกุล โป๊ยเซียนจัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Euphorbia ซึ่งพืชในสกุลนี้มีไม่ต่ำกว่า 2,500 ชนิด ได้แก่ คริสต์มาส สลัดได ส้มเช้า หญ้ายาง และ กระบองเพชรบางชนิด
โป๊ยเซียน Crown of Thornsโป๊ยเซียน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มงกุฎหนาม (Crown of Thorns) เนื่องจากลักษณะของลำตันที่มีหนามอยู่รอบเหมือนมงกุฎ นอกจากนี้ยังมีชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ เรียก ไม้รับแขก เชียงใหม่ เรียก ไม้ระวิงระไว, พระเจ้ารอบโลก หรือ ว่านเข็มพระอินทร์ แม่ฮ่องสอน เรียก ว่านมุงเมือง แต่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันในชื่อ โป๊ยเซียน มาช้านาน คำว่า โป๊ยเซียน เป็นคำในภาษาจีน แปลว่า เทพยดาผู้วิเศษ 8 องค์ ดังนั้นจึงมีความเชื่อกันว่าถ้าโป๊ยเซียนออกดอกครบ 8 ดอกในหนึ่งช่อจะนำความโชคดีให้แก่ผู้ปลูกเลี้ยง ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้สันนิษฐานว่าชาวจีนน่าจะเป็นผู้นำโป๊ยเซียนเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทย ครั้งสมัยที่มีการติดต่อค้าขายกับคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแต่เดิมนั้นดอกของโป๊ยเซียนจะมีขนาด 1-2 ซม. เท่านั้น แต่ในปัจจุบันคนไทยได้ผสมพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์โป๊ยเซียนจนมีขนาดดอกใหญ่กว่า 6 ซม. นอกจากนี้ดอกยังมีสีสันที่สวยงาม จนอาจกล่าวได้ว่าโป๊ยเซียนไทยดีที่สุดในโลก
แม้ว่าต้นโป๊ยเซียนจะสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของไทยก็ตาม แต่การปลูกโป๊ยเซียนให้สวยงามนั้น นอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว การดูแลรักษาก็นับว่ามีส่วนสำคัญ

ดินปลูก

ควรเป็นดินชั้นบนมีอินทรียวัตถุพวกเศษพืช โดยเฉพาะใบก้ามปูและใบทองหลางที่เน่าเปื่อยผุพังคลุกเคล้าอยู่ในดินจนเป็นเนื้อเดียวกัน ดินประเภทนี้จะอุ้มน้ำและระบายอากาศได้ดี ทำให้รากของโป๊ยเซียนแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว การใช้ดินปลูกที่แน่นทึบและมีน้ำขังอาจทำให้รากและต้นโป๊ยเซียนเน่าได้ เมื่อปลูกโป๊ยเซียนได้ระยะหนึ่งควรทำการพรวนดินรอบๆ กระถางปลูก ห่างจากโคนต้นประมาณ 2 นิ้ว พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกลงไปในดินประมาณ 1-2 ช้อนแกง และควรเปลี่ยนดินปลูกทุกปี

แสงแดด

โป๊ยเซียนเป็นไม้ที่ชอบแดด การปลูกถ้าให้โป๊ยเซียนได้รับแสงแดดประมาณ 60-70% จะดีมาก โดยเฉพาะแดดตอนเช้าถึงตอนสายก่อนเที่ยง ถ้าได้รับแสงแดด 100% ทั้งวันต้นจะแข็งแรง สีของดอกจะเข้มแต่เล็กลงกว่าเดิม นอกจากนี้ใบยังอาจจะไหม้เกรียมได้ ถ้าให้โป๊ยเซียนได้รับแดดน้อยหรืออยู่ในร่ม ดอกจะโต สีดอกไม่เข้ม ต้นไม่แข็งแรง ดังนั้นจึงควรจัดให้โป๊ยเซียนได้รับแสงแดดประมาณ 60-70% โดยใช้ตาข่ายพรางแสงช่วยก็จะดีมาก อย่างไรก็ตามในฤดูร้อนอากาศแห้งแล้งแดดจัดและร้อนมากเกินไปอาจทำให้โป๊ยเซียนเหี่ยวเฉาได้ ดังนั้นความชุ่มชื้นในอากาศก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโป๊ยเซียนเช่นกัน

การรดน้ำ

ตามปกติควรรดน้ำวันละครั้งในตอนเช้าและควรรักษาระดับความชื้นของดินให้พอเหมาะไม่แฉะหรือแห้งเกินไป เช่น ถ้าเป็นช่วงฤดูแล้งดินปลูกแห้งมากควรรดน้ำทั้งเช้าและเย็น ฤดูฝนถ้าวันใดฝนตกก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำแต่ควรตรวจดูผิวดินในกระถางด้วย ทั้งนี้เพราะใบของโป๊ยเซียนอาจปกคลุมกระถางจนทำให้ฝนที่ตกลงมาไม่สามารถลงไปในกระถางได้ ถ้าโป๊ยเซียนกำลังออกดอกควรหลีกเลี่ยงอย่าให้น้ำไปถูกดอกเพราะจะทำให้ดอกเน่าและร่วงเร็วกว่าปกติ สำหรับน้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำที่มีสภาพเป็นกลาง ถ้าน้ำมีสภาพเป็นกรดอาจผสมปูนที่ใช้กินกับหมากลงไปเล็กน้อยก็ได้ ถ้าเป็นน้ำประปาหรือน้ำบาดาลควรมีบ่อหรือถังพักน้ำไว้หลายๆ วันจึงจะนำมาใช้ได้

การตัดแต่งกิ่ง

โป๊ยเซียนบางต้นมีการแตกกิ่งก้านสาขามาก บางต้นมีลำต้นเดียวไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา ต้นที่มีกิ่งก้านสาขามากจะเป็นพุ่มทึบแสงแดดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้โป๊ยเซียนออกดอกน้อยและมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งหลบซ่อนของโรคและแมลงศัตรูพืช ควรตัดกิ่งก้านออกบ้างเพื่อให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก การตัดควรตัดให้ชิดลำต้นไม่ควรเหลือตอกิ่งไว้ กิ่งที่เหลือไว้ควรให้มีรูปทรงสวยงามเป็นไปตามธรรมชาติ หลังจากตัดกิ่งออกแล้วควรใช้ปูนแดงทาบริเวณรอยตัดเพื่อป้องกันเชื้อรา ส่วนกิ่งที่ตัดออกอาจนำไปขยายพันธุ์ต่อไป สำหรับโป๊ยเซียนที่มีลำต้นเดี่ยวไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน ถ้ากิ่งสูงมากเมื่อโดนลมแรงๆ อาจทำให้ต้นหักได้ควรตัดยอดไปขยายพันธุ์เป็นต้นใหม่ ส่วนโคนที่เหลือก็จะแตกกิ่งก้านออกมาใหม่

การให้ปุ๋ย

เมื่อปลูกโป๊ยเซียนเป็นเวลานานธาตุอาหารในดินก็จะถูกใช้ไปเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องเพิ่มธาตุอาหารหรือปุ๋ยลงไปในดิน การใส่ปุ๋ยให้กับโป๊ยเซียนสามารถใส่ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์อาจเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เช่น มูลวัว มูลสุกร มูลไก่ มูลค้างคาว รวมทั้งปุ๋ย กทม. ปุ๋ยเหล่านี้ทำให้ดินร่วนซุย ระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ควรใส่เดือนละครั้งสลับกับการใส่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีควรใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยละลายช้า ปุ๋ยเกล็ดและปุ๋ยน้ำโดยปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด การให้ปุ๋ยเคมีควรให้ในช่วงเช้าและควรงดน้ำก่อนให้ปุ๋ย 1 วันเพื่อกระตุ้นให้รากดูดปุ๋ยได้มากขึ้น ควรรดหรือโรยเฉลี่ยรอบๆ ต้นเดือนละ 1-2 ครั้ง สำหรับไม้ที่ปลูกใหม่ๆ ยังไม่ควรให้ปุ๋ยเคมีเพราะระบบรากยังจับตัวกับดินไม่ดีพอประกอบกับรากอาจมีการฉีกขาด เนื่องจากการเปลี่ยนดินทำให้ปุ๋ยกระทบรากโดยตรงและเร็วเกินไป อาจทำให้โป๊ยเซียนตายได้ การใส่ปุ๋ยเพื่อให้โป๊ยเซียนออกกิ่งหรือดอกมีวิธีปฏิบัติดังนี้
  • การปลูกเลี้ยงเพื่อให้แตกกิ่ง การทำให้โป๊ยเซียนคายน้ำน้อยๆ จะทำให้โป๊ยเซียนไม่ออกดอกแต่จะแตกกิ่งแทน ดังนั้นสถานที่ปลูกจึงควรเป็นที่อับลม มีลมพัดผ่านน้อย มีแสงแดดไม่มากหรือพรางแสงด้วยที่พรางแสงประมาณ 60-70% มีความชื้นแต่ไม่แฉะ การวางกระถางก็ควรวางให้สูงจากพื้นเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้การยืดช่วงเวลากลางวันให้ยาวออกไปโดยการใช้หลอดไฟ Day Light 60-100 วัตต์ ส่องให้กับต้นโป๊ยเซียนในเวลากลางคืนก็จะช่วยให้ต้นโป๊ยเซียนออกกิ่งได้ดีขึ้น สำหรับดินที่ปลูกควรผสมปุ๋ยคอกมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลไก่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็ควรใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เช่น 15-5-5, 25-7-7 ในปริมาณน้อยๆ ทุก 7-10 วัน
  • การปลูกเลี้ยงเพื่อให้ออกดอก จะตรงข้ามกับกับการปลูกเพื่อให้แตกกิ่ง คือการวางกระถางควรวางให้สูงจากพื้นประมาณ 60-70 ซม. เพื่อให้อากาศพัดผ่านก้นกระถางได้สะดวก เมื่อโป๊ยเซียนคายน้ำมากจะทำให้ออกดอก แสงแดดควรให้มากกว่า 50% หรือพรางแสงด้วยที่พรางแสง 40-50% แสงแดดจะช่วยให้สีของดอกมีสีเข้มขึ้น แต่ไม่ควรให้โป๊ยเซียนถูกแสงแดด 100% หรือถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้เกรียมได้ ดินปลูกไม่ควรมีปุ๋ยคอกมูลสัตว์มากนัก ควรใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่มีธาตุฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง เช่น 12-24-12, 8-24-24 จะเป็นปุ๋ยที่ให้ทางดินหรือทางใบก็ได้ การรดน้ำก็ไม่ควรรดให้แฉะเกินไป เพราะจะทำให้ก้านส่งดอกยาว ออกดอกซ้อนและดอกจะโรยเร็ว นอกจากนี้ก็ไม่ควรรดน้ำให้ถูกดอกเพราะจะทำให้เกสรดอกเน่าดำหมดความสวยงามได้

มะลิ

การปลูกมะลิ
มะลิเป็นพรรณไม้ยืนต้น และเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จนถึงขนาดกลางบางชนิดก็มีลำต้นแบบเถาเลื้อย ลำต้นมีความสูงประมาณ1-3 เมตร ผิวเปลือกลำต้นสีขาวมีสะเก็ดรอยแตกเล็กน้อย ลำต้นเล็กกลมแตกกิ่งก้านสาขาไปรอบ ๆ ลำต้น ใบเป็นใบเดียวแตกใบเรียงกันเป็นคู่ ๆ ตามก้านและกิ่งลักษณะของใบมนป้อม โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ออกตามส่วนยอดหรือตามง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวมีกลีบดอกประมาณ 6-8 กลีบ เรียงกันเป็นวงกลมหรือซ้อนกันเป็นชั้นแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ขนาดดอกบานเต็มที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตรผลเป็นรูปกลมรีเล็กเมื่อสุกจะมีสีดำภายในมีเมล็ดอยู่1เมล็ดนอกจากนี้ลักษณะของลำต้นและดอกแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
                                                
             
                                      
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก
    - ดินร่วนซุยมีการระบายน้ำดี                          - มีความเป็นกรด-ด่าง 5.5-6.5
    - มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์                         - ได้รับแสงแดดเต็มที่เพื่อให้มีดอกดก
การขยายพันธุ์  :การขยายพันธุ์ที่นิยมกันมากที่สุดคือ การปักชำ
    1.) เตรียมวัสดุเพาะชำ ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 บรรจุในภาชนะ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
    2.) เตรียมกิ่งพันธุ์ กิ่งที่ใช้เป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดให้มีความยาวของกิ่ง 4 นิ้ว หรือมีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ การตัดกิ่งควรตัดให้ชิดข้อ ริดใบส่วนล่างออก
    3.) นำกิ่งมะลิปักชำลงในแปลงชำ ให้มีระยะระหว่างแถวและกิ่ง 2x2 นิ้ว รดน้ำและสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา รักษาความชื้นให้เหมาะสมและคงที่
    4.) หลังจากกิ่งปักชำออกรากแล้วให้ย้ายลงปลูกในถุงขนาด 2x3 นิ้ว โดยใส่ดิน+ขุยมะพร้าว+ปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1 จนต้นมะลิแข็งแรงดีแล้วจึงนำไปปลูก
 การปลูก
             -  นิยมปลูกในช่วงฤดูฝน เดือน มิถุนายน-กรกฎาคม
             - ขุดหลุมลึก กว้าง และยาวด้านละ 50 ซม.
             - ใส่ปุ๋ยคอกและวัสดุอื่น ๆ ในอัตราส่วน 1:1:1 พร้อมทั้งเติมปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) และปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อย่างละ 1 กำมือ คลุกให้เข้ากัน แล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ ทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงนำต้นมะลิลงปลูก
                                       
                                            
 การดูแลรักษา
             - การให้น้ำ มะลิต้องการน้ำปานกลาง ทั้งนี้อาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ระวังอย่าให้น้ำขัง
             - การใส่ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 อัตรา 1-3 ช้อนแกงต่อต้น ขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่ม ใส่เดือนละครั้ง โดยหว่านและรดน้ำตาม
             - การตัดแต่ง ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งรวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งตายออกด้วย เพื่อลดโรคและแมลง
โรคและแมลงศัตรูสำคัญที่ต้องระวัง
   - โรครากเน่า                                                    - โรคแอนแทรกโนส
   - โรครากปม                                                     - หนอนเจาะดอก หนอนกินใบ
   - หนอนเจาะลำต้น เพลี้ยไฟ


ดอกพุด



การปลูกและดูแลรักษา พุดซ้อน เป็นไม้กลางแจ้ง ต้องการแสงแดดจัด ชอบดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ 
การปลูก นิยมปลูกในแปลงปลูก เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ชนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือ ปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก ถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคาร ควรปลูกให้มีระยะหย่างที่เหมาะ สม เพราะพุดเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่ 
การดูแลรักษา 
แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง 
น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง 
ดิน ชอบดินร่วนซุย 
ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 -.3 กิโลกรัม / ต้น ควรใส่อย่างน้อยปีละ 2 - 3 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง 
การขยายพันธ์ การเพาะเมล็ด 
โรคและศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพธรรมชาติได้ดี 
แมลง เพลี้ยหอย 
อาการ ใบสีเหลือง จะเห็นกลุ่มเพลี้ยสีขาวเกาะอยู่ตามซอกใบ หรือโคนใบ จะทำให้ใบเหี่ยวร่วงในต่อมา 
การป้องกัน รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก กำจัดมดที่เป็นพาหะแพร่ระบาดด้วยยาเช่นเดียวกับการกำจัด 
การกำจัด ใช้ยาไซกอน, ไดอาชินอน อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก 
ลักษณะ 
ต้น : เป็นไม้ต้นหรือพุ่มกลม แตกกิ่งมาก สูง 1-5 เมตร ลำต้นแก่มีสีเทามีน้ำยางใส 
ใบ : ใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับใบหนาเป็นมันสีเขียวเข้มใบเรียงตัวบนกิ่งเป็นแบบคู่ตรงข้าม 
ดอก : ออกดอกเดี่ยวๆ ที่ซอกใบและปลายกิ่ง และดอกซ้อน ดอกพุดซ้อนมีสีขาว กลีบเลี้ยงเป็นสีเหลือง ออกดอกตลอดปี กลิ่นแรงตั้งแต่เย็นถึงเช้าวันรุ่งขึ้น 
ผล : ปลายผลจะแหลมและโค้ง เมื่อผลแก่จัดจะแตกเป็น 2 ซีก 
เมล็ด : จำนวนเมล็ดประมาณ 3-6 เมล็ด/ ผล 
การกระจายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ในประเทศไทย มีอยู่มากทางภาคเหนือ 
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ดหรือตอนกิ่งกิ่งตอนที่ยาวไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร จะออกรากง่ายโตเร็ว

ที่มา  :  https://sites.google.com/site/dxkphuthth/home/kar-pluk-laea-dulae-raksa

เข็มพวงขาว





ชื่อวิทยาศาสตร์(Scientific Name ) : Ixora finlaysonia wall. ex 6. Don

ชื่อวงศ์ ( Family Name ) : RUBIACEAE

ชื่อสามัญ(Common Name ) : siamese white Ixora

ชื่ออื่นๆ ( Other Name ) : เข็มพวงขาว,เข็มขาว

ลักษณะทั่วไปทางพันธุศาสตร์เข็มหอม

เข็มหอม เดิมเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาใต้ จัดว่าเป็นไม้พุ่ม ซึ่งมีความสูง 1-3 เมตร ค่ะ เข็มหอม หรือเข็มขาวมีสำต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งใกล้ผิวดินจำนวนมาก เราจึงพบว่าเข็มหอมมักอยู่กันเป็นพุ่มแน่น โดยแต่ละต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 1-2 เซนติเมตร เปลือกสีดำหรือม่วงเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรีแกมขอบขนาน เรียงตรงข้าม หน้าใบมัน สีเขียวเข้ม หลังใบสีอ่อนกว่าและเห็นเส้นใบชัดเจน ในส่วนของช่อดอก จะมีสีขาว ออกที่ปลายยอด มีเส้นผ่าศูนย์กลางช่อดอก 8-18 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก   ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีเขียวรูปถ้วย ปลายแยกเป็นกลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาว 2.5-3 เซนติเมตรปลายหลอดมีกลีบแยกจากกันเป็น 4 กลีบ แต่ละกลีบรูปไข่กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.6 เซนติเมตร เมื่อดอกบานมีเส้น   ผ่าศูนย์กลาง 1.2-2 เซนติเมตร ดอกย่อยภายในช่อดอกเดียวกันบานในเวลาใกล้เคียงกัน ดอกที่บานใหม่ ๆ จะมีสีขาว บริสุทธิ์ เมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ดอกมีกลิ่นหอม และออกดอกตลอดปี

การปลูกและขยายพันธุ์เข็มหอม

ขยายพันธุ์ได้หลายวิธีค่ะ ทั้งเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง หรือตอนกิ่ง พบว่าออกรากได้ง่าย ปลูกเลี้ยงและบำรุงรักษาได้ง่าย ทนทาน มีอายุยืนนานหลายปี ชอบดินที่มีความชื้นสูงและชอบแดดจัด ต้นที่ปลูกในที่มีแสงน้อยหรือได้รับร่มเงาของต้นไม้อื่น จะมีกิ่งยืดยาวและไม่ค่อยออกดอก เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้พุ่มหรือไม้ที่ตัดแต่งเป็นพุ่มรูปทรงต่าง ๆ ปลูกตามขอบแนวถนนหรือปลูกเป็นรั้วและตัดแต่งเป็นแนวยาวตามถนน

ที่มา  :  http://www.maipradabonline.com/maimongkol/kem.htm

วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แคแสด

แคแสด

(อังกฤษAfrican tulip tree, Fire bell, Fouain tree, Flame of the Forest) เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของแอฟริกา ปัจจุบันกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน สามารถปลูกในทรายริมทะเลได้ ถ้าปลูกในที่แห้งจะผลัดใบ แต่ไม่พร้อมกันทั้งต้น[1] มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ดังนี้ : แคแดง (กรุงเทพฯ) , ยามแดง


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

แคแสดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 15-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาวประมาณ 30-45 ซม. ใบย่อยมี 4-9 คู่ รูปรีถึงรูปไข่ ขอบใบเป็นริ้วเล็กน้อย ปลายใบแหลมและมักจะงุ้มลง มีขนเล็กน้อย มีขนาดยาว 5-12 ซม. กว้าง 2-5 ซม. ดอกเป็นช่อตั้ง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแผ่เป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น 4-5 กลีบ กลีบดอกยับย่น สีส้มแสดถึงสีแดงแสด ดอกทยอยบาน ร่วงง่าย ออกดอกราวเดือน ตุลาคม - กุมภาพันธ์ ผลแบนคล้ายฝัก ปลายแหลม ผลแก่สีน้ำตาลดำ ผลแก่จะแตกเป็นด้านเดียวเมล็ดเล็กแบนมีปีก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด จะเริ่มให้ดอกเมื่อมีอายุประมาณ 4 - 8 ปี

การดูแล

ชอบที่แจ้ง แดดจัด

ประโยชน์

เปลือกรักษาแผล โรคผิวหนัง แผลเรื้อรัง แก้บิด ใบและดอก ใช้พอกแผล ดอก ใช้รักษาแผลเรื้อรัง ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ นอกจากนี้ยังสามารถนำดอกมาประกอบอาหารได้เหมือนแคบ้าน

ที่มา  :  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94

กุหลาบหิน

 การดูแล และขยายพันธุ์ กุหลาบหิน 

 

การดูแล  กุหลาบหิน
ควรนำไปตั้งไว้ในที่มีแสงแดด ให้น้ำ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายกับน้ำในช่วงที่ดอกกำลังออก จะทำให้ดอกเจริญเติบโต

การปลูก  กุหลาบหิน
ดินที่นำไปปลูกควรจะระบายน้ำได้ดี เพราะกุหลาบหินไม่ชอบดินแฉะ และ กุหลาบหินมีช่วงการเจริญเติบโตของดอกไม้ตอนช่วงบานนานกว่าไม้ดอกชนิดอื่นๆ กุหลาบหินควรปลูกในดินร่วนเป็นส่วนใหญ่ผสมด้วยทรายหยาบ 1 ส่วน ของดินใช้ดินร่วน 2 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน ขยายพันธุ์โดยการปักชำยอดและปักชำใบ

การขยายพันธุ์  กุหลาบหิน
1. การเพาะเมล็ด เมล็ดของกุหลาบหินมีขนาดเล็กมาก อาจจะเป็นไปได้ว่าเล็กที่สุดในหมู่บรรดาดอกไม้จำพวกไม้ดอกไม้ประดับทั้งหลาย เมล็ดหนัก 28 กรัม การเพาะปลูกต้องมีความสามารถระมัดระวังและพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่งและวัสดุ ที่ใช้จะต้องมีความสะอาดและมีขนาดพอประมาณสามารถเก็บความชื้นได้พอเหมาะ ไม่แฉะ เพราะถ้าเมล็ดแฉะจะทำให้เมล็ดเน่า การเพาะปลูกควรใช้วิธีการหว่านลงบนวัสดุเพาะโดยไม่ต้องกลบ เมล็ดจะแทรกเข้าไปในที่ที่เป็นช่องว่างเอง แต่กุหลาบหินนั้นเป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งที่ปลูกง่ายเลี้ยงง่าย จึงงอกเร็วและงอกง่ายกว่าไม้ดอกชนิดอื่นๆ เมล็ดสามารถงอกภายใน 10 วันและอุณหภูมิที่ใช้เพาะปลูกจะต้องสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส( 70 F) เมล็ดจะงอกได้เร็วกว่ากำหนดไว้ถ้ามีอุณหภูมิสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส( 70 F) ถ้าอากาศร้อนกว่าจะทำให้เมล็ดงอกเร็วกว่ากำหนดถ้าปลูกในอุณหภูมิขนาดนี้คาด ว่ากุหลาบหินจะงอกได้เร็วขึ้นซึ่งไม่เกิน 1 สัปดาห์

2. การปักชำ สามารถปักชำได้ทั้งยอดและใบแต่ว่าในต่างประเทศได้มีการ คัดพันธุ์และผสมพันธุ์จนได้กุหลาบหินพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นมากมายและยัง มีการจดทะเบียนสงวนลิขสิทธิ์ไว้เรียบร้อย ในทางการสงวนลิขสิทธิ์ในการทำกิ่งปักชำจำหน่ายเฉพาะผู้ทีมีใบอนุญาตเท่านั้น โดยผู้ปลูกจำเป็นที่จะต้องซื้อกิ่งปักชำจากผู้ผลิต แต่ถ้าต้องการจะทำกิ่งปักชำเอง โดยซื้อต้นแม่พันธุ์มา จะต้องขออณุญาตอย่างเป็นทางการและถ้าผู้ปลูกมีความต้องการที่จะขยายพันธุ์ เองโดยไม่ได้ขออนุญาตไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษร้ายแรง การปักชำยอดทำได้ง่ายๆด้วยวิธีการดังนี้ ตัดส่วนยอดให้มีความยาวประมาณ 1-3 นิ้ว ริดใบข้างล่างออกบางส่วน นำไปปักชำในทรายผสมถ่านแกลบอัตราส่วน 1:1 จะออกจากรากภายใน 14 วันและสามารถย้ายไปปลูกในที่ต่างๆได้ การปักชำใบทำได้ดังนี้ หลังจากทำการปักชำแล้วจะออกรากที่โคนก้านใบภายใน 14 วันแล้วจะออกต้นใหม่ในเวลาประมาณ 60 วัน แม้จะต้องใช้เวลาทำนานกว่าการปักชำยอดก็ตาม

ที่มา : http://www.nanagarden.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99-10338-13.html